วันศุกร์ที่ 31 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

จากประเด็นปัญหาของคนมีที่ดิน คือ มีที่ดินเปล่า นานๆจะเข้าไปดูที แต่ดูคราวนี้ ปรากฎว่า มีบ้านมาสร้างในที่ของเรา จะมีขั้นตอนดำเนินการอย่างไรบ้าง

จากประเด็นปัญหาของคนมีที่ดิน คือ มีที่ดินเปล่า นานๆจะเข้าไปดูที แต่ดูคราวนี้ ปรากฎว่ามีบ้านมาสร้างในที่ของเรา จะมีขั้นตอนดำเนินการอย่างไรบ้าง

ผู้เป็นเจ้าของที่ดิน อาจถูกแย่งกรรมสิทธิ์โดยไม่สมัครใจจากบุคคลอื่นก็ได้ ถ้ามีผู้มาทำการครอบครองที่ดิน ของผู้อื่นไว้โดยความสงบและเปิดเผยด้วยเจตนาเป็นเจ้าของ กรณีที่ดินเป็นโฉนด ถ้าได้ครอบครอง ติดต่อกันเป็นเวลาสิบปี ผู้ครอบครองนั้นได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินดังกล่าวไป ซึ่งเรียกโดยทั่วไปว่า "การครอบครองปรปักษ์" ตามมาตรา 1382

การบุกรุกที่ดินของผู้อื่น

การบุกรุกอสังหาริมทรัพย์หรือที่ดินของบุคคลอื่น ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362 บัญญัติว่า “ผู้ใดเข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่นเพื่อถือการครอบครองอสังหาริมทรัพย์นั้นทั้งหมดหรือแต่บางส่วน หรือเข้าไปกระทำการใด ๆ อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของเขาโดยปกติสุข ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินสองพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”

องค์ประกอบความผิด

1. ผู้ใด

2. โดยเจตนา

3. เข้าไปในอสังหาริมทรัพย์ของผู้อื่น เพื่อถือการครอบครองอสังหาริมทรัพย์นั้นทั้งหมดหรือแต่บางส่วน หรือ

4. เข้าไปกระทำการใด ๆ อันเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของเขาโดยปกติสุข

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

มาตรา 1310 บุคคลใดสร้างโรงเรือนในที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริตไซร้ ท่านว่าเจ้าของที่ดินเป็นเจ้าของโรงเรือนนั้น ๆ แต่ต้องใช้ค่าแห่งที่ดินเพียงที่เพิ่มขึ้นเพราะสร้างโรงเรือนนั้นให้แก่ผู้สร้าง

แต่ถ้าเจ้าของที่ดินสามารถแสดงได้ว่า มิได้มีความประมาทเลินเล่อ จะบอกปัดไม่ยอมรับโรงเรือนนั้นและเรียกให้ผู้สร้างรื้อถอนไป และทำที่ดินให้เป็นตามเดิมก็ได้ เว้นไว้แต่ถ้าการนี้จะทำไม่ได้โดยใช้เงินพอสมควรไซร้ ท่านว่าเจ้าของที่ดินจะเรียกให้ผู้สร้างซื้อที่ดินทั้งหมดหรือแต่บางส่วนตามราคาตลาดก็ได้

มาตรา 1312 บุคคลใดสร้างโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่นโดยสุจริตไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นเป็นเจ้าของโรงเรือนที่สร้างขึ้น แต่ต้องเสียเงินให้แก่เจ้าของที่ดินเป็นค่าใช้ที่ดินนั้น และจดทะเบียนสิทธิเป็นภาระจำยอม ต่อภายหลังถ้าโรงเรือนนั้นสลายไปทั้งหมด เจ้าของที่ดินจะเรียกให้เพิกถอนการจดทะเบียนเสียก็ได้

ถ้าบุคคลผู้สร้างโรงเรือนนั้นกระทำการโดยไม่สุจริต ท่านว่าเจ้าของที่ดินจะเรียกให้ผู้สร้างรื้อถอนไป และทำที่ดินให้เป็นตามเดิมโดยผู้สร้างเป็นผู้ออกค่าใช้จ่ายก็ได้

เมื่อเราโดนบุกรุกและมีการก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างในที่ดินเราแล้ว จึงไม่ควรปล่อยเวลาให้เนิ่นนานเกิน 10ปี


แล้วควรทำอย่างไรดี?

ขั้นแรก    เจรจาก่อน

เป็นไปได้ที่เราและเขาอาจเข้าใจผิดเรื่องแนวเขต จึงมีการก่อสร้างรุกมาบางส่วน ถ้ากรณีนี้ให้ยื่นคำขอสอบเขตที่สำนักงานที่ดิน การยื่นสอบเขต จะได้คำตอบทั้งหมดครับ เพราะเจ้าหน้าที่จะออกหมายให้มาระวังแนวเขตทั้งคนบุกรุก(กรณีเป็นข้างเคียงเรา)และผู้ปกครองท้องที่ผู้มีหน้าที่ดูแลที่สาธารณะ

ขั้นตอนที่2  ถ้าเจรจาไม่สำเร็จ และมั่นใจว่ารุกในที่ดินเราแน่

ให้ไปแจ้งความร้องทุกข์และขอสำเนาบันทึกประจำวันของตำรวจมาเก็บไว้เป็นหลักฐานด้วยครับ การดำเนินคดีควรฟ้องขับไล่และเรียกร้องค่าเสียหายด้วย

คำพิพากษาฎีกาที่เกี่ยวข้อง                    

คำพิพากษาฎีกาที่ 435/2535 การที่จำเลยเข้าไปสร้างรั้ว ห้องครัว ห้องน้ำในที่ดินของโจทก์เพื่อถือการครอบครองเป็นของตนนั้น ความผิดฐานบุกรุกเกิดขึ้นและสำเร็จเมื่อจำเลยเข้าไปกระทำการดังกล่าว ส่วนการที่จำเลยครอบครองที่ดินต่อมาเป็นเพียงผลของการบกรุกเท่านั้นหาเป็นความผิดต่อเนื่องไม่

คำพิพากษาฎีกาที่ 4477/2531 เมื่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้เช่าและครอบครองอาคารพิพาทค้างชำระค่าเช่า หากจำเลยประสงค์จะขับไล่โจทก์ ก็ชอบที่จะดำเนินการตามกฎหมาย จำเลยไม่มีอำนาจกระทำโดยพลการใช้กุญแจพร้อมโซ่เหล็กคล้องและปิดประตูเหล็กอันเป็นทางเข้าออกอาคารพิพาท ทำให้โจทก์เข้าไปในอาคารพิพาทไม่ได้ เป็นการล่วงล้ำเข้าไปในอำนาจการครอบครองของโจทก์ ถือได้ว่าจำเลยเข้าไปกระทำการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์โดยปกติสุขตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 362

คำพิพากษาฎีกาที่ 1980/2514 โจทก์ร่วมทำสัญญาเช่าห้องพิพาทจากจำเลย ต่อมาได้เอาห้องนั้นไปให้เช่าช่วงโดยไม่มีหลักฐานการเช่า ผู้เช่าช่วงจึงเป็นแต่ผู้อยู่ในห้องพิพาทโดยอาศัยสิทธิของโจทก์ร่วม โจทก์ร่วมยังเป็นผู้ครอบครองห้องพิพาทอยู่ หากจำเลยเห็นว่าโจทก์ร่วมทำผิดสัญญาเช่า ก็ชอบที่จะดำเนินการตามกฎหมาย หามีอำนาจที่จะปิดห้องที่โจทก์ร่วมครอบครองโดยพลการไม่ การที่จำเลยถือโอกาสเสือกไสให้ผู้เช่าช่วงออกไปจากห้องพิพาทโดยโจทก์ร่วมไม่ทราบ แล้วช่วงชิงใส่กุญแจห้องมิให้โจทก์ร่วมเข้าใช้ห้องพิพาท ถือได้ว่าเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ร่วมโดยปกติสุข จึงมีความผิดฐานบุกรุก

คำพิพากษาฎีกาที่ 2153/2518 จำเลยทั้งสองเป็นพี่สาวร่วมบิดากับโจทก์ร่วม บ้านอยู่ใกล้เคียงกัน ได้เข้าไปในบ้านของโจทก์ร่วมเพื่อพูดกันเรื่องเงินช่วยงานศพมารดา แม้จำเลยที่ 2 จะอยู่ที่บันได จำเลยที่ 1 เข้าไปถึงในห้อง แต่เมื่อโจทก์ร่วมบอกให้ออกไปจากบ้าน จำเลยทั้งสองก็ปฏิบัติตามโดยดี พฤติการณ์เพียงเท่านี้ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการรบกวนการครอบครองอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ร่วมโดยปกติสุข จึงไม่มีความผิดฐานบุกรุก

เทคนิค การขับไล่ ผู้บุกรุกที่ดิน และ รุกล้ำที่ดิน


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น