มีที่ดินและต้องการเริ่มต้นทำโครงการ
carbon
credits จะเริ่มยังไง...
การทำ Credit Carbon หรือการซื้อขายเครดิตคาร์บอน (carbon credits) เป็นวิธีที่ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยการลดการปล่อยก๊าซในโครงการต่างๆ และแลกเปลี่ยนเป็นเครดิตคาร์บอนที่สามารถขายให้กับองค์กรที่ต้องการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตัวเองได้
หากคุณมีที่ดินและต้องการเริ่มต้นทำโครงการ carbon credits นี่คือขั้นตอนที่อาจช่วยได้:
1. ศึกษาและวางแผน
-ศึกษาตลาด :
ทำความเข้าใจเกี่ยวกับตลาดเครดิตคาร์บอน และมาตรฐานที่ใช้ เช่น Verified Carbon
Standard (VCS) หรือ Gold Standard
-ประเมินที่ดิน :
ตรวจสอบว่าที่ดินของคุณเหมาะสำหรับโครงการประเภทไหน เช่น การปลูกป่า
การฟื้นฟูพื้นที่ชุ่มน้ำ หรือการจัดการป่าไม้
2. เลือกโครงการที่เหมาะสม
-ประเภทโครงการ : เลือกประเภทของโครงการที่เหมาะกับที่ดิน
เช่น การปลูกป่าใหม่ (reforestation)
หรือการอนุรักษ์ป่าไม้ (forest conservation)
-ศึกษาโครงการที่คล้ายกัน :
เรียนรู้จากโครงการที่ประสบความสำเร็จเพื่อให้คุณเข้าใจความต้องการและขั้นตอนต่างๆ
เพื่อนำมาปรับแผนและแนวทางที่คุณเตรียมไว้
3. พัฒนาผลการศึกษา (Feasibility Study)
-วิเคราะห์ความเป็นไปได้ :
ตรวจสอบความเป็นไปได้ของโครงการจากด้านเทคนิคและการเงิน
ระยะเวลาในการดำเนินโครงการ
-วางแผนการดำเนินงาน :
สร้างแผนการดำเนินงานที่ชัดเจน รวมถึงการจัดการที่ดินและการตรวจสอบ
4. สมัครเข้าร่วมมาตรฐาน
-เลือกมาตรฐาน : ตัดสินใจว่าจะใช้มาตรฐานไหนในการรับรองเครดิตคาร์บอน เช่น VCS , Gold Standard หรือ TGO (ตลาดคาร์บอน) ของ องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)
-สมัครแลส่งเอกสาร :
เตรียมเอกสารและยื่นคำร้องเพื่อเข้าร่วมมาตรฐานที่เลือก หรือ
หน่วยงานต่างๆที่เปิดให้เข้าร่วมโครงการ
5. ดำเนินการโครงการ
-เริ่มดำเนินการ ดำเนินการตามแผนที่วางไว้ เช่น การปลูกต้นไม้
การจัดการพื้นที่
-ตรวจสอบและรายงาน
จัดเตรียมรายงานผลการดำเนินงาน และให้หน่วยงานที่ได้รับรองตรวจสอบ
6. ออกใบรับรองเครดิตคาร์บอน
-ตรวจสอบ : ผ่านการตรวจสอบจากหน่วยงานที่ได้รับรอง
-ออกใบรับรอง :
รับใบรับรองเครดิตคาร์บอนที่สามารถขายได้ในตลาด
7. ขายเครดิตคาร์บอน
-ตลาดและพันธมิตร หาตลาดหรือพันธมิตรที่สนใจซื้อเครดิตคาร์บอนของคุณ
-การตลาด โปรโมทเครดิตคาร์บอนของคุณและทำการเจรจาต่อรอง
เนื่องด้วยการทำโครงการ Credit Carbon สามารถช่วยในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและเป็นแหล่งรายได้เพิ่มเติม
แต่ต้องใช้เวลาและการวางแผนอย่างรอบคอบเพื่อให้โครงการประสบความสำเร็จตามจุดมุ่งหมายที่วางไว้.
มีพื้นที่ไม่ถึง
10 ไร่ จะปลูกต้นไม้ทำคาร์บอนเครดิตคุ้มค่า น่าลงทุนหรือไม่?
TGO ได้กำหนด ลักษณะโครงการแบบควบรวม (Bundling Project) คือ โครงการที่มีลักษณะการดำเนินโครงการแบบเดียวกันใช้ระเบียบวิธีการลดก๊าซเรือนกระจก (Methodology) เดียวกัน ระยะเวลาคิดเครดิตเท่ากัน แต่สามารถมีพื้นที่โครงการหลายๆ แห่ง หลายๆ เจ้าก็ได้ กล่าวคือ พื้นที่การดำเนินโครงการ T-VER ไม่จำเป็นต้องติดกัน พื้นที่อยู่ห่างกันก็สามารถรวบรวมและพัฒนาเป็นโครงการ T-VER ได้ ซึ่งชาวบ้านอาจต้องรวมกลุ่มหรือจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชน ทำการรวบรวมพื้นที่ของสมาชิก ทำแผนผังพื้นที่ที่เข้าร่วมโครงการ และจัดทำเอกสารข้อเสนอโครงการเพื่อขอขึ้นทะเบียนเป็นโครงการ T-VER ทำการตรวจสอบความใช้ได้ของเอกสารโดยผู้ประเมินภายนอกและยื่นเอกสารขึ้นทะเบียนให้กับ TGO แต่ในช่วงแรกชาวบ้านจะยังไม่ได้คาร์บอนเครดิต ชาวบ้านจะมีคาร์บอนเครดิตก็ต่อเมื่อดำเนินการตามระเบียบวิธีการลดก๊าซเรือนกระจกที่ TGO กำหนดและยื่นขอรับรองคาร์บอนเครดิตกับ TGO อีกครั้งเท่านั้น
ส่วนราคาขายคาร์บอนเครดิตภายในประเทศไทย จากโครงการคาร์บอนเครดิตประเภทการปลูกป่า ราคาต่ำสุดอยู่ที่ 55 บาทต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และสูงสุดอยู่ที่ 3,000 บาทต่อตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ซึ่งท่านคงเห็นแล้วว่าต้องมีพื้นที่ดำเนินโครงการมากขนาดไหนจึงจะคุ้มค่า ส่วนเรื่องที่ต้องปลูกต้นไม้กี่ต้นและแต่ละต้นจะได้คาร์บอนเครดิตเท่าไหร่ ซึ่งการคำนวณการประเมินการกักเก็บคาร์บอนภายใต้โครงการ T-VER ของ TGO จะสามารถใช้กรณีจากการนับจำนวนต้นไม้ได้ จะใช้สำหรับพื้นที่ที่มีขนาดแปลงย่อยไม่เกิน 30 ไร่ และรวมพื้นที่ทั้งโครงการไม่เกิน 1,000 ไร่ โดยสามารถใช้อัตราการเพิ่มพูนปริมาณการกักเก็บคาร์บอนเท่ากับ 9.5 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์ต่อต้นต่อปี นั้นคือ ต้องปลูกต้นไม้ 106 ต้น ถึงจะได้คาร์บอนเครดิต 1 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี
TGO มีกรณีศึกษาลักษณะโครงการแบบควบรวม คือ โครงการธนาคารคาร์บอนสีเขียวบ้านท่าลี่ อ.หนองเรือ และบ้านแดง อ.บ้านฝาง จ.ขอนแก่น ที่ชาวบ้านในชุมชนได้รวมพื้นที่คนละแปลงสองแปลง จาก 41 ราย จำนวนพื้นที่รวม 365.30 ไร่ และดำเนินกิจกรรมปลูกต้นไม้ ดูแลต้นไม้ วัดคาร์บอนเครดิตจากต้นไม้ และขอรับรองคาร์บอนเครดิตกับ TGO แล้วในช่วงเวลา 3 ปี ได้จำนวนคาร์บอนเครดิต 401 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า จากจำนวนต้นไม้ 14,072 ต้น จะเห็นได้ว่าโครงการคาร์บอนเครดิตจากการปลูกป่านั้นชาวบ้าน คนธรรมดาที่มีพื้นที่ไม่มากก็สามารถทำได้ เพียงแต่ต้องมีเงินลงทุนและมีความรู้เรื่องการจัดทำเอกสารการขอขึ้นทะเบียนและรับรองคาร์บอนเครดิต และที่สำคัญคือความสามัคคีของคนในชุมชนที่จะร่วมมือกันดูแลแหล่งดูดซับ/กักเก็บก๊าซเรือนกระจกในพื้นที่ชุมชนตลอดอายุโครงการ ซึ่งชาวบ้านจะสามารถใช้ประโยชน์และสร้างมูลค่าจากป่าได้อย่างยั่งยืน โดยคาร์บอนเครดิตจะเป็นเพียงผลพลอยได้หรือส่วนเพิ่มจากกิจกรรมดูแลป่านั้นเอง
--------------------------------------------------------------
อ้างอิง:
#องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)
เขียนและเรียบเรียง
พีรพงษ์
ปาฐะเดชะ PA.
MBA.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น