วันพุธที่ 7 สิงหาคม พ.ศ. 2567

เซ็นรับรองแนวเขตที่ดินไม่ถือว่าสละสิทธิ ฎีกาใหม่...

    ว่าด้วยคำวินิจฉัยการลงนามรับรองเรื่องรังวัดสอบเขตที่ดิน ประเด็นมีอยู่ว่า เจ้าของที่ดินข้างเคียงได้รับจดหมายจากกรมที่ดินให้คอยระวังแนวเขตที่ดินของตนเองเนื่องจากที่ดินของท่านติดกับแนวที่ดินของเจ้าของที่ดินที่จะทำการรังวัดสอบเขตที่ดิน และ เจ้าของที่ดินข้างเคียงก็ดูเอกสารสิทธิ์โฉนดที่ดินไม่เป็น แต่เจ้าหน้าที่บอกต้องมีการเซ็นรับรองแนวเขตที่ดินด้วย ทางเจ้าของที่ดินข้างเคียงก็หลงเซ็นรับรองไปโดยที่ว่าบอก ผมก็ไม่ทราบนะครับ หรือ หนูก็ไม่ทราบนะค่ะ  ว่าแนวเขตอยู่ตรงไหน แต่เจ้าหน้าที่บอกให้เซ็นก็เซ็นไป ต่อมา เกิดปัญหากรณีที่ว่ามีการเซ็นรับรองไปแล้ว  มันดันมีผลทางกฎหมายก็คือในแบบ ทด 34 ซึ่งเป็นแบบรับรองของเจ้าของที่ดินข้างเคียงมีการระบุไว้เลยว่าข้าพเจ้าขอรับรองว่าหลักเขตที่ได้ปรับตามแนวเขตที่รังวัดในครั้งนี้เป็นการถูกต้องแล้ว  ซึ่งกรณีนี้ข้าพเจ้าขอรับรองว่า ถ้าปรากฏมีหลักเขตใดที่ข้าพเจ้านำไม่ตรงกับความจริง ข้าพเจ้ายอมรับผิดและยินยอมให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการแก้ไขนั่น หมายถึงว่าถ้าเราไปเซ็นรับรองแนวเขตกฎหมายจะถือว่าเราเป็นการเซ็นสละสิทธิ์ อะไรประมาณนี้  ซึ่งแนวคำตัดสินและศาลฎีกาวินิจฉัยว่ากรณีมีการเซ็นรับรองแนวเขตไปจะถือว่าแม้นว่าที่ดินพิพาทจะอยู่ในที่ดินเราก็ต้องถือว่าเป็นการเซ็นสละกรรมสิทธิ์ในที่ดินให้แก่ที่ข้างเคียงไปแล้วนั้น เกิดข้อเท็จจริงว่าเซ็นโดยไม่ทราบว่าหลักหมุดที่แท้จริงอยู่ตรงไหนหรือเซ็นไปก่อนคงไปแก้ไขปัญหาคราวหน้าได้ (ประมาณว่าคิดเองหรือมีคนแนะนำมา)

ตามคำพิพากษา ฎีกาที่ 1646/2551 โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินข้างเคียงได้มาระวังแนวเขตที่ดินและลงลายมือชื่อรับรองแนวเขตที่ดินไว้ในใบรับรองเขตติดต่อของเจ้าของที่ดินและเจ้าของที่ดินข้างเคียง อันเป็นการยอมรับว่าที่ดินพิพาทไม่ได้อยู่ในเขตที่ดินตามโฉนดของโจทก์ แต่อยู่ในเขตที่ดินตามโฉนดของจำเลย แม้โจทก์จะเป็นของที่ดินพิพาทก็ต้องถือว่าโจทก์สละกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทแก่จำเลยแล้ว การครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์ที่มีมาก่อนย่อมสิ้นสุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา 1377

สรุปคือ ตามแนว ฎีกาที่ 1646/2551 เมื่อได้เซ็นรับรองแนวเขตที่ดินตามแบบฟอร์มของกรมที่ดิน ทด 34 แล้ว ถือได้ว่าได้มีการยอมรับขนาดพื้นที่ที่ดินในเอกสารที่มีการเซ็นลงนามตามพื้นที่ที่มีการรังวัดไปแล้ว ถ้าได้เกินก็ดีไป แต่ถ้าขาดก็ต้องสละสิทธิ์ไป


ซึ่งไม่นานมานี้ได้มี คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1781/2564 เรื่อง ละเมิด สละเจตนาครอบครอง

    แนวทางคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1781/2564  ป.พ.พ. มาตรา 420, 1377แม้เจ้าของที่ดินข้างเคียงได้ไประวังแนวเขตที่ดินและโจทก์ที่ ๒ ลงชื่อรับรองแนวเขตที่ดินไว้ ตามใบรับรองเขตติดต่อของเจ้าของที่ดินและเจ้าของที่ดินข้างเคียงก็ตาม แต่เมื่อปรากฏว่าโจทก์ทั้งสองได้ทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตลอดมาโดยการปลูกมะละกอ กล้วย และมะนาว นอกจากนั้น โจทก์ทั้งสองยังปักเสาไม้กับปลูกต้นสักทองไว้เป็นแนวเขต อันเป็นการแสดงให้เห็นว่าแม้โจทก์ที่ ๒ จะลงชื่อรับรองแนวเขตไว้ก็ตาม แต่โจทก์ทั้งสองก็ยังทำประโยชน์และหวงกันแนวเขตที่ดิน ตนเองไว้ตลอดมาโดยไม่เคยสละการครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่จำเลย และไม่ปรากฏว่าจำเลย เข้าไปทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทหรือแย่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท เมื่อที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมีโฉนด จึงเป็นที่ดินมีกรรมสิทธิ์มิใช่เป็นที่ดินที่มีเพียงสิทธิครอบครองเท่านั้น การที่โจทก์ที่ ๒ ลงชื่อรับรอง แนวเขตที่ดินนั้น ยังถือไม่ได้ว่าโจทก์ทั้งสองสละกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยแล้ว และการ ครอบครองที่ดินพิพาทของโจทก์ทั้งสองที่มีมาก่อนหน้านั้นก็ยังไม่สิ้นสุดลงตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๗๗ เมื่อที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ทั้งสอง การที่โจทก์ทั้งสองครอบครองและทำประโยชน์โดยการปลูกมะละกอ กล้วย และมะนาว รวมทั้งวางระบบน้ำในที่ดินพิพาทซึ่งเป็นของโจทก์ทั้งสองนั้น ย่อมไม่เป็นการกระทำละเมิดต่อจำเลย โจทก์ทั้งสองจึงไม่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ จำเลยแต่อย่างใด ส่วนการที่จำเลยนำเสาปูนไปวางไว้เพื่อล้อมรั้วในที่ดินพิพาทซึ่งเป็นของโจทก์ ทั้งสองนั้นเป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสอง จำเลยต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์ทั้งสอง

    สรุป เมื่อที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมีโฉนดและได้มีการทำประโยชน์ จึงเป็นที่ดินมีกรรมสิทธิ์มิใช่เป็นที่ดินที่มีเพียงสิทธิครอบครองเท่านั้น การที่เจ้าของที่ดินข้างเคียง ลงชื่อรับรอง แนวเขตที่ดินนั้น ยังถือไม่ได้ว่าสละกรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้น




อ้างอิงเอกสารและข้อมูล : https://jor7.coj.go.th/th/content/category/detail/id/8/cid/5049/iid/298935

เขียนและเรียบเรียง
พีรพงษ์ ปาฐะเดชะ PA. MBA.



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น