วันพุธที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2565

การขายฝาก การจำนอง การซื้อไปโอนกลับ...คืออะไร แล้วเงื่อนไขอะไรที่ต่างกัน..?

การขายฝากที่ดิน

การขายฝากที่ดิน เป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการทำนิติกรรมซื้อขายที่ดิน โดยกรรมสิทธิ์ในที่ดินจะตกเป็นของผู้รับซื้อขายฝากทันทีเมื่อมีการจดทะเบียนนิติกรรมขายฝาก ณ สำนักงานที่ดิน ซึ่งวิธีการนี้จะเปิดโอกาสให้ผู้ขายฝากสามารถนำเงินมาไถ่ถอนที่ดินได้ภายในระยะเวลาที่กำหนดในเงื่อนไขข้อตกลงตามสัญญาการขายฝาก และส่วนผู้รับซื้อฝากจะได้รับประโยชน์ตอบแทนในรูปแบบของดอกเบี้ยสูงสุดไม่เกิน 15% ต่อปี และจะได้รับเงินต้นคืนทันทีเมื่อครบกำหนดการไถ่ถอนที่มีการระบุไว้ในเงื่อนไขสัญญาที่มีการตกลงกัน  ทั้งนี้โดยส่วนใหญ่ผู้รับซื้อฝากจะให้ผลประโยชน์ที่สมน้ำสมเนื้อกับราคาประเมินที่ดิน ไม่ว่าจะเป็นดอกเบี้ยถูก หรือให้วงเงินสูง เป็นต้น เพื่อจุงใจการตัดสินใจแก่ผู้ขายฝาก


หมายเหตุ  ขายฝาก ต่างจาก ฝากขาย คือ การขายฝากลักษณะธุรกรรมที่ผู้ขายมีโอกาสซื้อคืนจากผู้รับฝากขาย ส่วนผู้รับฝากขายได้ผลตอบแทนคือดอกเบี้ย แต่ การฝากขาย เป็นรูปแบบของนิติกรรมประเภทหนึ่งที่ผู้ขาย แต่งตั้งหรือมอบหมายให้ตัวแทนหรือนายหน้า กระทำการขายทรัพย์สินแทนตน และได้ค่าตอบแทนเป็นค่ากำเหน็จ (ค่านายหน้า)

farmforrent.Chiang Rai

ข้อดีของการขายฝาก

1) การขายฝากต้องกระทำต่อหน้าพนักงานเจ้าหน้าที่ของสำนักงานกรมที่ดิน จึงทำให้มีความน่าเชื่อถือและไว้วางใจได้
2) ผู้ขายฝากยังสามารถใช้ประโยชน์บนที่ดินที่ขายฝากได้ จนกว่าจะพ้นกำหนดการไถ่ถอน
3) ผู้ขายฝากอาจทำสัญญาขยายระยะเวลาไถ่ออกไป ได้สูงสุดไม่เกิน 10 ปี ในกรณีที่เมื่อครบกำหนดตามสัญญาไถ่ถอน ซึ่งผู้ขายฝากไม่สามารถที่จะดำเนินการไถ่ถอนคืนได้ในช่วงระยะเวลาที่ตกลงไว้ (ไม่เกิน 10 ปี)

Farmforrent.CR

การจำนองที่ดิน

การจำนองที่ดิน คือ การที่บุคคลคนหนึ่งเรียกว่า “ผู้จำนอง” ได้ทำการนำอสังหาริมทรัพย์ของตน เช่น ที่ดินหรือทรัพย์ที่กฎหมายอนุญาตให้จำนองได้ ไปจดทะเบียนไว้กับบุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่า “ผู้รับจำนอง” เพื่อเป็นหลักประกันในการชำระหนี้ ทั้งนี้โดยผู้จำนองไม่ต้องส่งมอบที่ดินหรือทรัพย์สินดังกล่าวนั้นให้แก่ผู้รับจำนอง

หมายเหตุ การจำนอง ต่างจาก การจำนำโดยที่การจำนำต้องมีการส่งมอบทรัพย์สินด้วย

Farmforrent.CR

รูปแบบการจำนองที่ดิน 

1. จำนองที่ดินเพื่อชำระหนี้เพื่อเป็นการประกันการชำระหนี้ ระหว่าง ผู้จำนอง กับ ผู้รับจำนอง 

ตัวอย่าง นาย A ได้กู้เงินจากนาย B 100,000 บาท นาย A จึงนำที่ดินซึ่งเป็นของตนไปจดทะเบียนจำนองต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เพื่อเป็นการประกันการชำระหนี้เงินกู้ของตนเอง กับ นาย B

2. จำนองที่ดินเพื่อค้ำประกันให้ผู้อื่นเพื่อเป็นการประกันการชำระหนี้ของบุคคลอื่น ระหว่าง ผู้จำนอง, เจ้าของทรัพย์ และผู้รับจำนอง

ตัวอย่าง นาย A ได้กู้เงินจากนาย B เป็นจำนวนเงิน 1 แสนบาท โดยนาย C ได้นำที่ดินของตนไปจดทะเบียนจำนองต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ที่นาย A ได้กู้ไปจากนาย B

Farmforrent.CR

ขอบเขตของสิทธิจำนอง

1. ผู้รับจำนองมีสิทธิบังคับจำนองได้เฉพาะทรัพย์ที่จดทะเบียนจำนองเท่านั้น จะไปบังคับถึงทรัพย์สินอื่น ๆ ที่ไม่ได้จดทะเบียนจำนองไม่ได้
     ตัวอย่าง หากจำนองเฉพาะที่ดิน จะไม่ครอบคลุมถึงโรงเรือนหรือบ้านที่ปลูกภายหลังวันจำนอง เว้นแต่จะได้ตกลงกันไว้ก่อนหน้าว่าให้รวมถึงบ้านและโรงเรือนดังกล่าวด้วย

2. จำนองเฉพาะบ้านซึ่งปลูกอยู่ในที่ดินของคนอื่น ก็มีสิทธิเฉพาะบ้านเท่านั้น

3. จำนองย่อมไม่ครอบคลุมถึงดอกผลแห่งทรัพย์สินซึ่งจำนอง เช่น จำนองสวนผลไม้ดอกผลที่ได้จากสวนผลไม้ยังคงเป็นกรรมสิทธิ์ของผู้จำนองอยู่

Farmforrent.CR

การบังคับจำนองที่ดิน (ยึดทรัพย์)

หากผู้จำนองที่ดินเลยกำหนดเวลาชำระหนี้โดยประมาณ 30 วัน ผู้รับจำนองที่ดินสามารถฟ้องต่อศาลเพื่อให้นำที่ดินผืนนั้นขายทอดตลาด หรือหลุดเป็นกรรมสิทธิ์ของตนได้ เพียงแต่ผู้รับจำนองต้องส่งหนังสือทวงหนี้ไปหาผู้จำนอง เพื่อใช้สิทธิบังคับจำนอง หากถึงกำหนดแล้วผู้จำนองหรือลูกหนี้ไม่นำเงินมาชำระ ผู้รับจำนองต้องฟ้องผู้จำนองต่อศาลให้ผู้จำนองชำระหนี้ หากไม่ชำระหนี้ สามารถขอให้ศาลสั่งให้นำเอาทรัพย์ที่จำนองนั้นออกขายทอดตลาด เพื่อนำเงินมาชำระหนี้ของตน หรือขอให้ศาลสั่งให้ทรัพย์ที่จำนองนั้นหลุดเป็นกรรมสิทธิ์ของตนหากเข้าเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดไว้

Farmforrent.CR

ข้อดีของการจำนอง

1) ทรัพย์สินที่จำนองยังไม่โอนเป็นของเจ้าหนี้ โอกาสที่จะเสียทรัพย์สินจึงน้อยกว่า เพราะ ถ้าผู้จำนองที่ดินไม่ชำระหนี้ตามเวลาที่กำหนด ผู้รับจำนองที่ดินต้องดำเนินการฟ้องต่อศาลเพื่อนำที่ดินขายทอดตลาด (ดีต่อลูกหนี้)
2) ค่าจดทะเบียนจำนองถูกกว่าขายฝาก จำนอง เสียค่าธรรมเนียมอัตรา 1% จากวงเงินที่นำมาจำนอง แต่ไม่เกิน 200,000 บาท ในส่วนของ ขายฝาก : เสียค่าธรรมเนียม 2% จากราคาประเมิน และต้องชำระภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย และอากรแสตมป์ตามที่กฎหมายกำหนด

Farmforrent.CR

การซื้อไปโอนกลับ

การซื้อไปโอนกลับ เป็นธุรกรรมอีกรูปแบบหนึ่งของการขายฝาก ที่ทางผู้ขายมีความต้องการใช้เงินด่วน และทางผู้ขายมีความต้องการที่จะขายทรัพย์สินนั้นอยู่แล้ว ซึ่งเป็นการยากที่จะขายทรัพย์สินอสังหาริมทรัพย์ประเภทบ้านและที่ดินในทันทีซึ่งต้องใช้เวลาค่อนข้างนาน โดยส่วนใหญ่ผู้ขายที่ร้อนเงินมักจะใช้วิธีการซื้อไปโอนกลับ โดยจะทำการขายให้กับผู้รับฝากซื้อ ในราคาที่ถูกกว่าราคาประเมิน แล้วทางผู้ขายก็หาผู้ซื้อรายใหม่ ซึ่งวิธีการนี้ ทางผู้ขายต้องเสียค่าธรรมเนียม ทั้งฝั่ง ขาย และ ฝั่ง ซื้อคืน ด้วย (ต้องเสียค่าโอน 2 รอบทั้งค่าธรรมเนียมและค่าภาษีต่างๆของกรมที่ดิน) และ ทั้งนี้ทางผู้ขายและผู้รับฝากซื้อต้องทำสัญญาอีกฉบับที่ต้องระบุข้อตกลงในเงื่อนไข ผู้ขายสามารถซื้อบ้านและที่ดินคืนในระยะเวลาที่ตกลงกัน และ ผู้รับฝากซื้อ ไม่สามารถที่จะขายบ้านและที่ดินให้กับบุคคลอื่น ตามเงื่อนไขที่มีการระบุไว้

ข้อดีของการซื้อไปโอนกลับ

ผู้ขายทรัพย์สามารถได้เงินสดมาไว ทั้งนี้ก็ต้องแลกด้วยค่าใช้จ่ายในการดำเนินการที่สูง และอาจต้องเสียดอกเบี้ยไปเรื่อยๆ ถ้ายังหาผู้ที่จะซื้อทรัพย์ยังไม่ได้

เครดิตข้อมูล บริษัท ดอท พร๊อพเพอร์ตี้ จำกัด (Dot Property)

เขียนและเรียบเรียง
พีรพงษ์ ปาฐะเดชะ



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น