วันเสาร์ที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2563

เพิ่มเติมประเด็นในเรื่องของ พรบ. การเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม


เพิ่มเติมประเด็นในเรื่องของ พรบ. การเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม 

 โดย อาจารย์มานิต ไอยรา   (นบ. , นบท. , บชบ.)

Farmforrent.blogspot.com


     สาระสำคัญ ของ พรบ. การเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ฉบับที่ 2) แก้ไขปี 2559  โดยมีวัตถุประสงค์ เป็นการช่วยเหลือเกษตรกรเพื่อให้มีที่ทำมาหากิน จากการเช่า โดยไม่ถูกเอารัดเอาเปรียบ จากผู้ให้เช่า นายทุน และคนต่างด้าว  มีเนื้อหาพอสรุปได้ดังนี้

   1. ห้ามคนต่างด้าวทำเกษตรกรรมในประเทศไทย  เว้นแต่ได้รับอนุญาตเป็นการเฉพาะจากรัฐบาล  ดู มาตรา 5/2
      มาตรา ๕/๒[๔]  ห้ามมิให้คนต่างด้าวเช่าที่ดินเพื่อประกอบเกษตรกรรม หรือดำเนินการไม่ว่าด้วยวิธีการใดเพื่อหลีกเลี่ยงมิให้ตกอยู่ภายใต้บังคับแห่งพระราชบัญญัตินี้

          2.มีเจ้าหน้าที่ของรัฐ คือ คณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ได้แก่ คชก.จังหวัด  คชก.อำเภอ  คชก.ตำบล มาควบคุมการทำสัญญาเช่าทั้งก่อนและหลังทำสัญญาเช่า (โดยปกติ ทุกคนมีสิทธิทำสัญญากันโดยอิสรเสรี ปราศจากอำนาจใดมาบังคับ ควบคุม แม้จะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐก็ตาม) ตาม พรบ.นี้ เท่าที่ทราบ  จะควบคุมเฉพาะการเช่าที่ดินทำนาและทำไร่ ส่วนการเกษตรอย่างอื่นถ้าจะควบคุมต้อง ตราเป็น พระราชกฤษฎีกาประกอบ พรบ.นี้   การควบคุมที่สำคัญ  เช่น


2.1    เรื่องการกำหนดค่าเช่านั้น ผู้เช่าและผู้ให้เช่าจะไม่มีความเป็นอิสระในการทำสัญญากัน เพราะต้องกำหนดให้ไม่เกินกว่าค่าเช่าขั้นสูงที่ คชก.ตำบล กำหนด  ดู มาตรา 40
             มาตรา ๔๐[๒๒]  ให้ คชก. ตำบล ประกาศกำหนดอัตราค่าเช่านาขั้นสูง ผลผลิตขั้นสูงของผลิตผลเกษตรกรรมซึ่งเป็นพืชหลักที่นิยมปลูกในพื้นที่ กำหนดเวลาที่ผู้ให้เช่านาอาจเรียกเก็บค่าเช่านาในแต่ละปีตามความเหมาะสมแห่งท้องที่และประเภทของพืชหลัก

2.2    เจ้าหน้าที่รัฐ คชก.ตำบล มีอำนาจงดหรือลดค่าเช่า เมื่อเข้าเกณฑ์ค่าเช่าสูงเกินไป  ดู มาตรา 43
             มาตรา ๔๓[๒๔]  ในปีใดการทำนาไม่ได้ผลตามปกติโดยมิใช่ความผิดของผู้เช่านา ถ้าได้ผลผลิตต่ำกว่าสามในสี่ของผลผลิตขั้นสูงที่ คชก. ตำบล กำหนด ให้ผู้เช่านาเสียค่าเช่านาลดลงตามส่วนของผลผลิตที่ได้รับต่ำกว่าผลผลิตขั้นสูงดังกล่าว แต่ถ้าได้ผลผลิตต่ำกว่าหนึ่งในสามของผลผลิตขั้นสูง ผู้ให้เช่านาจะเรียกเก็บค่าเช่านามิได้

2.3    กรณีไม่ได้กำหนดไว้ในสัญญาเช่าว่าจะชำระค่าเช่าเป็นอะไร (ส่วนใหญ่จะกำหนดเป็นเงิน)  ผู้เช่าจะชำระค่าเช่าด้วยผลิตผลจากการเกษตรที่ได้ในที่ดินที่เช่าก็ได้  ดู มาตรา 40
            มาตรา ๔๐  (๔) (ในกรณีที่มิได้มีข้อตกลงกันไว้ ผู้เช่านาจะชำระค่าเช่านาเป็นผลผลิตก็ได้)

2.4    ค่าเช่าต้องกำหนดเป็นรายปี  จะเป็นรายสัปดาห์ หรือรายเดือน ราย 3 เดือน  ไม่ได้  ดู มาตรา 40
            มาตรา ๔๐ (๒)  ค่าเช่านาให้คิดเป็นรายปี 

2.5    ต้องให้ระยะเวลาเช่าแก่ผู้เช่า พอที่จะสามารถได้กำไรจากการเช่าที่ดินได้ 
(ก)    กรณีทำสัญญาเช่าเป็นหนังสือและไม่ได้กำหนดเวลาเช่าหรือกำหนดไว้น้อยกว่า 2 ปี ให้ถือว่า เช่ากัน 2 ปี ดู มาตรา 26 ต่างจาก ปพพ. จะถือตามเวลาที่กำหนดในหนังสือสัญญา ถ้าไม่กำหนดก็ไล่ออกได้ทันที
(ข)     กรณีไม่ทำหนังสือสัญญาเช่า (เช่ากันปากเปล่า) ให้ถือว่าเช่ากัน 6 ปี ดู มาตรา 26  ต่างจาก ปพพ. สามารถขับไล่ออกไปได้ทันที
2.6    ผู้เช่าและผู้ให้เช่าต้องไปขึ้นทะเบียน กับ คชก. ตำบล ดู มาตรา 13(2)
           มาตรา ๑๓[๑๓]  คชก. ตำบล มีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้
                              (๑) ประกาศกำหนดตามมาตรา ๔๐
                              (๒) จัดทำทะเบียนผู้เช่าและผู้ให้เช่าภายในเขตตำบล ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีกำหนด
                              (๓) พิจารณาวินิจฉัยข้อพิพาทเกี่ยวกับการเรียกเก็บค่าเช่า การชำระค่าเช่า ระยะเวลาของการเช่า ตลอดจนข้อพิพาทอื่น หรือค่าเสียหายอันเกิดจากการเช่าตามคำร้องขอของผู้เช่าหรือผู้ให้เช่า และออกคำสั่งใด ๆ ให้ผู้เช่าหรือผู้ให้เช่าปฏิบัติหรือมิให้ปฏิบัติการใดเพื่อให้เกิดผลตามคำวินิจฉัย และเมื่อวินิจฉัยหรือออกคำสั่งใด ๆ แล้ว ให้รายงาน คชก. อำเภอ ทราบ
                              (๔) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้ หรือตามที่ คชก. จังหวัด หรือ คชก. อำเภอ มอบหมาย

2.7    การเช่าจะทำด้วยปากเปล่า หรือทำเป็นหนังสือก็ได้ และจะทดทะเบียนการเช่าหรือไม่ก็ได้  ถ้าจะจด ก็จด ต่อ คชก. ตำบล ได้  แต่ถ้าเป็น ปพพ. กำหนดให้จดทะเบียนการเช่าต่อ เจ้าพนักงานที่ดิน  กรมที่ดิน  ดูมาตรา 22 ,23, 24  พรบ. การเช่าฯ ฉบับที่ 1

2.8    การบังคับตามสัญญาเช่า เช่น การทวงค่าเช่า การให้ออกจากที่ดินที่เช่า การเรียกร้องค่าเสียหายอันเกิดจากการทำให้ที่ดินเสียหาย การให้รื้อถางสิ่งที่ปลูกปักอยู่ ฯลฯ โดยปกติต้องใช้องค์กรศาล (ฟ้องศาล)  แต่ พรบ. การเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เล็งเห็นว่า เป็นการยุ่งยากต่อเกษตรกร จึงให้เจ้าหน้าที่รัฐ คชก. ตำบล มาเป็นผู้ตัดสินได้ ดูมาตรา 13(3) , มาตรา 37 , มาตรา 40 วรรคสี่ , วรรคท้าย (แต่ก็ไม่เป็นการตัดสิทธิ์ ในการใช้สิทธิฟ้องศาล)

Farmforrent.blogspot.com

3. การดูแลสิ่งแวดล้อม เพื่อทำให้ที่ดินที่เช่ามีความยั่งยืน  คชก. จังหวัด  อาจกำหนดให้ที่ดินบางแห่งห้ามทำการเกษตรบางประเภทได้ เช่น กำหนดห้ามปลูกต้นยูคาลิปตัส  ดูมาตรา 8(1)
 
ผู้เช่าและผู้ให้เช่า ควรเตรียมตัวดังนี้
1.  ที่ดินที่จะเช่ากัน ห้ามทำเกษตรอะไรบ้าง
2. ค่าเช่าขั้นสูง ที่กำหนด โดย คชก.ตำบล
3. กรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการเช่า ถ้าไม่ฟ้องศาล จะร้องเรียนใคร อย่างไร ภายในกี่วัน
4. สืบหาข้อมูลที่จำเป็นต่อการทำสัญญาเช่า เพราะบางเรื่องจะไปทำสัญญากันไม่ได้ เช่น การกำหนดชำระค่าเช่าเป็นรายเดือน  การกำหนดค่าเช่าสูงกว่าอัตราค่าเช่าขั้นสูง ของ คชก. ตำบล  กำหนดเวลาเช่าน้อยกว่า 2 ปี ฯลฯ
5. สืบค้นดูว่า สัญญาเช่าทางการเกษตรใดที่ถูกควบคุมอีก นอกจากสัญญาเช่า ทำนา  ทำไร่
6. ลองค้นหา ตัวอย่างสัญญาเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
7. ถ้าเป็นไปได้ ควรค้นหา คำพิพากษาของศาลฎีกา เกี่ยวกับเรื่องนี้

บทความและประเด็นข้อสงสัยที่ต้องพิจารณาในเรื่อง พรบ.ที่ดินให้เช่าเพื่อการเกษตร ฉบับ 2559 (ฉบับปรับปรุง)
โดย อาจารย์มานิต ไอยรา   (นบ. , นบท. , บชบ.)

เอกสารประกอบการทำสัญญาเช่าที่เพื่อการเกษตรกรรม (LINK) 


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น