วันพุธที่ 11 มีนาคม พ.ศ. 2563

ปลูกต้นยางนาเหมือนออมเงินในต้นไม้ แถมยังได้น้ำมันไบโอดีเซลไว้ใช้ด้วย

ปลูกต้นยางนาเหมือนออมเงินในต้นไม้ แถมยังได้น้ำมันไบโอดีเซลไว้ใช้ด้วย

ปลูกต้นยางนาเหมือนออมเงินในต้นไม้

วันนี้ Farmforrent.blogspot.com มีเรื่องดีๆ ที่เกี่ยวข้องกับการปลูกไม้เศรษฐกิจ โดยเราจะพาทุกคนมาทำความรู้จักกับ “ต้นยางนา” ที่ไม่ได้มีดีแค่ความสูง แต่เป็นต้นไม้ที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้หลากหลายอย่าง โดยเฉพาะกลายเป็นบ่อน้ำมันบนดิน ที่สามารถนำมาใช้กับเครื่องยนต์ได้จริง ๆ ต้นไม้ชนิดนี้ทำได้อย่างไร มาดูกันเลย

ชื่อท้องถิ่น  ยางขาว ยาง ยางแม่น้ำ ยางหยวก (ทั่วไป) ยางกุง (เลย) ยางเนิน (จันทบุรี) ชันนา ยาง ตัง (ชุมพร) ยางควาย (หนองคาย)

ชื่อวิทยาศาสตร์   Dipterocarpus alatus Roxb. ex G. Don

ลักษณะทางพฤกษศาสตร์

ลักษณะทั่วไป ไม้ต้น ขนาดใหญ่ สูงประมาณ 30 – 40 เมตร ไม่ผลัดใบ เรือนยอดเป็นพุ่มกลมหนา ลำต้นเปลาตรง เปลือกนอกสีเทาอมขาว เรียบหนา หรือแตกสะเก็ดเป็นหลุมตื้นๆ เปลือกในสีน้ำตาลอมชมพู ลักษณะใบ ใบเดี่ยว เรียงสลับ รูปไข่แกมขอบขนาน ขนาดกว้าง 8 – 15 เซนติเมตร ยาว 20 – 35 เซนติเมตร โคนใบมนกว้าง ขอบใบหยักเป็นคลื่นเล็กน้อย ปลายใบสอบทู่ เนื้อใบหนา ใบอ่อนมีขนสีเทา ใบแก่เกลี้ยงหรือเกือบเกลี้ยง กาบหุ้มยอดหรือใบอ่อนมีขนอ่อนสีน้ำตาล


ลักษณะดอก ช่อกระจะ สั้นๆ ออกที่ซอกใบใกล้ปลายกิ่ง ดอกย่อยสีชมพู กลีบเลี้ยงเชื่อมติดกันเป็นรูปถ้วย กลีบดอกเชื่อมติดกัน ปลายกลีบแยกออกเป็น 5 แฉก บิดเวียนตามกันแบบกังหัน เกสรเพศผู้มี 29 อัน ลักษณะผล ผลแห้งกลีบเลี้ยงเจริญเป็นปีก ทรงกลมรี มีครีบตามยาว 5 ครีบ มีปีกยาว 2 ปีก ยาว 10 – 12 เซนติเมตร เส้นปีกตามยาวมี 3 เส้น เมล็ดลักษณะคล้ายแป้งสีขาวมีริ้วสีน้ำตาลกระจายอยู่ทั่วไป

ระยะการออกดอกติดผล

ออกดอกช่วงเดือนธันวาคม – เดือนมกราคม ผลจะแก่จัดในต้นเดือนพฤษภาคม
เขตการกระจายพันธุ์พบขึ้นเป็นกลุ่มตามที่ราบริมลำธาร ในป่าดิบทั่วไป ที่มีดินอุดมสมบูรณ์ ดินลึกและมีความชุ่มชื้นเพียงพอ ความสูง 200 – 600 เมตร จากระดับน้ำทะเล

แหล่งข้อมูล: สำนักงานหอพรรณไม้ – กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช

โดยทางอำเภอนาแกล จังหวัดนครพนม ได้ทำการวิจัย นำน้ำมันจากต้นยางมาใช้แทนน้ำมัน โดยนำไปทดลองใช้กับรถไถนา แทนการใช้น้ำมันไบโอดีเซล และเป็นผลสำเร็จในการทำวิจัยครั้งนี้

เราจะพามาดูรถไถคันนี้ ที่อยู่ในศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ตำบลพิมาน อำเภอนาแกล จังหวัดนครพนม เป็นรถไถคันที่ใช้น้ำมันจากต้นยางนาแทนการใช้น้ำมันไบโอดีเซล มาเป็นเวลากว่า 2 ปีแล้ว ซึ่งในตอนแรกในการทดลอง ก็ใช้วิธีผสมน้ำมันดีเซลกับน้ำมันยางนา อย่างละ 50% ใช้ด้วยกัน และต่อมาก็ได้เปลี่ยนเป็นการใช้น้ำมันไบโอดีเซลที่สกัดจากต้นยางนาเพียงอย่างเดียว โดยที่ไม่ได้ผ่านกระบวนการ หรือปรับแต่งเครื่องยนต์ใดๆเลย 

เมื่อใช้ไประยะหนึ่ง และสังเกตเครื่องยนต์ก็ยังคงปกติ ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อเครื่องยนต์ หรือการทำงานใดๆ ผลงานนี้เป็นการวิจัยจาก อบต.พิมาน ร่วมกับ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ถือว่าเป็นการค้นพบทรัพยากรใหม่ที่จะนำมาใช้ทดแทนน้ำมันดีเซลในเครื่องยนต์ให้กับเกษตรกรได้ จะเป็นการช่วยลดลดต้นทุนไปได้มากเลยทีเดียว


ขั้นตอนและวิธีการเจาะเอาน้ำมันจากต้นยางนา

1. ให้ใช้สว่านไฟฟ้าเจาะที่ต้นยางนา ให้มีความลึก 10-20 เซนติเมตร มีความสูงจากพื้น 30-50 เซนติเมตร เพื่อให้ขวดสามารถตั้งกับพื้นได้พอดีกับความสูงของขวด

2. นำขวดพลาสติกที่เตรียมไว้ต่อกับจุกยาง แล้วปักเข้าไปในรูที่เจาะต้นยางนาไว้ จากนั้นใช้ดินน้ำมันในการแปะจุกยางกับต้นยางนาให้อยู่ วางขวดทิ้งไว้ 2-3 วัน น้ำมันจากต้นยางนาจะค่อยๆไหลออกมาใส่ขวดจนเต็มขวด

3. เพียงเท่านี้เราก็จะได้น้ำมันบนดินที่ผลิตจากต้นยางนามาใช้ประโยชน์ในการทำเกษตรแล้ว

ทางคุณบัญชา ศรีชาหลวง นายกอบต. พิมาน ได้ให้ความรู้ว่า น้ำมันดีเซล 1 ลิตร ใช้กับรถไถนาได้ประมาณ 2 ชั่วโมง โดยใช้เครื่องรอบต่ำ แต่เมื่อเราผสมน้ำมันยางนาเข้าไปด้วย จะสามารถใช้ได้ 4-5 ชั่วโมง ทำให้ทำงานได้นานมากยิ่งขึ้น ซึ่งต้นยางนาที่สามารถให้น้ำมันได้ จะอยู่ที่ 15-20 ปี ตอนนี้ทาง อบต.พิมาน ก็ได้ทำการการขยาย พันธุ์ ปลูกต้นยางนา เพื่อที่จะนำน้ำมันมาใช้ทดแทนในอนาคตได้ ซึ่งใช้เวลาเพียง 15 ปี ก็สามารถมีบ่อน้ำมันบนดินให้ได้ใช้กันแล้ว ปัจจุบันได้มีต้นยางนาในชุมชนดอนย่านาง ต.พิมาน กว่า 300 ต้น บางต้นอายุ 200-300 ปี นอกจากนี้การปลูกต้นยางนาเพิ่มขึ้นจะเป็นการเพิ่มความอุดมสมบูรณ์ให้กับระบบนิเวศ

เรียกว่าเป็นข่าวดีสำหรับเกษตรกรที่ใช้เครื่องยนต์ ใช้รถไถนา ที่จะได้มีทางเลือกในการใช้น้ำมันจากต้นยางนา นอกจากจะช่วยประหยัดต้นทุนให้ได้แล้ว ก็ยังมีกรรมวิธีเก็บน้ำมันที่ง่าย ทำเองได้ง่ายๆอีกด้วย ไม่ต้องผ่านกระบวนการอะไรให้ยุ่งยาก และสามารถนำไปต่อยอดใช้กับเครื่องยนต์ชนิดอื่นๆต่อไปได้อีกด้วย


ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก : รู้ค่าพลังงาน , คุยขโมงข่าวเช้า , อบต.พิมาน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น