วันพฤหัสบดีที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2564

"กัญชง"และ"กัญชา" แตกต่างและ มีประโยชน์อย่างไร และ เปิดขั้นตอนขอปลูกให้ถูกกฎหมายหลังปลดล็อก

กัญชง มีประโยชน์อย่างไร

"กัญชง"และ"กัญชา" แตกต่างและ มีประโยชน์อย่างไร และ เปิดขั้นตอนขอปลูกให้ถูกกฎหมายหลังปลดล็อก

จากข่าวกรณีคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตผลิต จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภทที่ 5 เฉพาะกัญชง หรือเฮมพ์ (Hemp) ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอเพื่อใช้ประโยชน์ในครัวเรือนและเชิงอุตสาหกรรม โดยระยะ 3 ปีแรกจะให้เฉพาะ “หน่วยงานรัฐ” เป็นผู้ขออนุญาตผลิต จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครอง และให้คณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษประเมินผล เพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาความเหมาะสมที่จะอนุญาตให้บุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลยื่นขออนุญาต โดยสาระสำคัญของกฎหมายคือ สายพันธุ์กัญชงต้องมีปริมาณสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (Tetrahydrocannabinol หรือ THC) ไม่เกินร้อยละ 1.0 ต่อน้ำหนักแห้ง(1-3) นั้น หลายคนคงสงสัยว่ากัญชงกับกัญชานั้นต่างกันอย่างไร และมีประโยชน์ด้านใดบ้างที่ทำให้รัฐบาลส่งเสริมให้มีการปลูกอย่างเป็นทางการ

หลายคนมักเข้าใจผิดคิดว่า ต้นกัญชงก็คือกัญชา แต่ความจริงแล้วต้นกัญชงแค่มีลักษณะคล้ายคลึงกับต้นกัญชาในด้านลักษณะทางพฤกษศาสตร์ แต่ไม่ใช่พืชที่เป็นสารเสพติดเหมือนกัญชา เพราะมีสาร THC ในปริมาณน้อยกว่ามากจึงไม่มีผลทำให้เกิดมึนเมาหรือเสพติด แต่มีประโยชน์ในด้านการแพทย์และอื่น ๆ เช่น ต้นกัญชงเป็นพืชที่สามารถนำมาแปรรูปทำเป็นผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับการถักทอผ้าที่มีคุณภาพดี ลักษณะของกัญชงกับกัญชามีความแตกต่างกันดังนี้

เปรียบเทียบลักษณะของกัญชงกับกัญชา

กัญชง

ชื่อภาษาอังกฤษ  Hemp

ชื่อวิทยาศาสตร์ Cannnabis sativa L. Subsp. Sativa

มีลำต้นสูงมากกว่า 2 เมตร

ปล้องหรือข้อยาว แตกกิ่งก้านน้อยและแตกกิ่งไปในทิศทางเดียวกัน

เปลือกเหนียวลอกง่าย ให้เส้นใยยาวมีคุณภาพสูง

แผ่นใบเป็นสีเขียวอมเหลือง ใบมีแฉกประมาณ 7-9 แฉก

การเรียงตัวของใบค่อนข้างห่าง

เมื่อออกดอกจะมียางที่ช่อดอกไม่มาก

เมล็ดมีขนาดใหญ่และเป็นลายบ้าง ผิวเมล็ดหยาบด้าน

ใบเมื่อนำมาสูบจะมีกลิ่นหอมน้อย ทำให้ผู้เสพปวดศีรษะ

มีสาร tetrahydrocannabinol (THC) น้อยกว่า 0.3%

การปลูกระยะห่างระหว่างต้นจะแคบ เพราะปลูกเพื่อต้องการเส้นใยเพียงอย่างเดียว

กัญชา

ชื่อภาษาอังกฤษ  Marijuana

ชื่อวิทยาศาสตร์ Cannabis sativa L. Subsp. indica (Lam.) E. Small & Cronquist

มีความสูงไม่ถึง 2 เมตร

ปล้องหรือข้อสั้น แตกกิ่งก้านมากและแตกกิ่งเป็นแบบสลับ

เปลือกไม่เหนียว ลอกได้ยาก ให้เส้นใยสั้นมีคุณภาพต่ำ

แผ่นใบเป็นสีเขียวถึงเขียวจัด ใบมีประมาณ 5-7 แฉก

การเรียงตัวของใบจะชิดกัน

เมื่อออกดอกจะมียางที่ช่อดอกมาก

เมล็ดมีขนาดเล็ก ผิวเมล็ดมันวาว

ใบเมื่อนำมาสูบจะมีกลิ่นหอมคล้ายหญ้าแห้ง 

มีสาร tetrahydrocannabinol (THC) ประมาณ 1-10% 

การปลูกระยะห่างระหว่างต้นจะกว้าง เพราะปลูกเพื่อต้องการใบ

สรรพคุณทางยาของกัญชง

กัญชงสามารถใช้ในการรักษาโรคได้ โดยมีข้อมูลในการใช้จากส่วนต่าง ๆ ดังนี้

·     ส่วนของใบ

มีสรรพคุณเป็นยาบำรุงโลหิต ช่วยทำให้รู้สึกผ่อนคลาย สดชื่น ช่วยให้นอนหลับสบาย ช่วยรักษาอาการวิงเวียนศีรษะ ปวดศีรษะหรือไมเกรน และช่วยแก้กระหาย ใช้รักษาโรคท้องร่วง โรคบิด และช่วยบรรเทาอาการเจ็บปวด คลายกล้ามเนื้อ รักษาโรคเกาต์

     ส่วนของเมล็ด

 ภูมิปัญญาของชาวม้งจะใช้เมล็ดสดเป็นยาสลายนิ่ว โดยนำมาเคี้ยวสด ๆ


ประโยชน์ของกัญชงในด้านต่าง ๆ

1.   เปลือกจากลำต้นให้เส้นใยเพื่อนำไปใช้ทำเป็นเส้นด้ายและเชือก ใช้สำหรับการทอผ้า ทำเครื่องนุ่งห่ม ฯลฯ  นอกจากนี้ยังใช้ในพิธีกรรมต่าง ๆ และใช้เป็นรองเท้าของคนตายเพื่อเดินทางไปสู่สวรรค์ ใช้ทำเป็นด้ายสายสิญจน์ในพิธีกรรมต่าง ๆ และใช้ในพิธีอัวเน้งหรือพิธีเข้าทรง ซึ่งเป็นงานประเพณีสำคัญของชาวม้ง

2.   เนื้อของลำต้นที่ลอกเปลือกออกแล้วสามารถนำมาผลิตเป็นกระดาษได้

3.   แกนของต้นกัญชงจะมีคุณสมบัติในการดูดซับกลิ่น น้ำหรือน้ำมันได้ดี ในต่างประเทศนิยมนำไปผลิตเป็นพลังงานชีวมวลในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ถ่านไม้, Alcohol, Ethanol, Methanol นอกจากนี้แกนกัญชงยังถูกนำไปผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อการตกแต่งอาคารและเฟอร์นิเจอร์

4.   เมล็ดใช้เป็นอาหารของคนและนก เมล็ดกัญชงที่เก็บได้สามารถนำมาสกัดเอาน้ำมันมาใช้ในการปรุงอาหารได้ ซึ่งจากการศึกษาพบว่า ในน้ำมันจากเมล็ดนั้นมีโอเมก้า 3 สูงมาก นอกจากนี้ยังมีโอเมก้า 6, โอเมก้า 9, linoleic acid, alpha- และ gamma-linolenic acid และสารในกลุ่มวิตามิน เช่น วิตามินอี ซึ่งเมื่อบริโภคแล้วจะมีประโยชน์ต่อการป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด และช่วยลดการเกิดโรคมะเร็งในร่างกายได้

5.   น้ำมันจากเมล็ดสามารถไปผลิตเป็นน้ำมันซักแห้ง ทำสบู่ เครื่องสำอาง ครีมกันแดด แชมพู สบู่ โลชั่นบำรุงผิว ลิปสติก ลิปบาล์ม หรือแม้กระทั่งเป็นน้ำมันเชื้อเพลิง และถูกพัฒนาเป็นตำรับครีมน้ำมันกัญชงที่ให้ความชุ่มชื้นและช่วยบำรุงผิวแห้งเพื่อรักษาโรคผิวแห้งคันและสะเก็ดเงินที่ได้ผลดี

6.   เมล็ดนอกจากจะให้น้ำมันแล้ว ยังพบว่ามีโปรตีนสูงมากอีกด้วย โดยสามารถนำมาใช้ในการทำผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ได้มากมาย เช่น เนย ชีส เต้าหู้ โปรตีนเกษตร นม ไอศกรีม น้ำมันสลัด อาหารว่าง อาหารเสริม ฯลฯ หรือผลิตเป็นแป้งทดแทนถั่วเหลืองได้เป็นอย่างดี ซึ่งในอนาคตอาจใช้เป็นทางเลือกในการบริโภคแทนถั่วเหลืองซึ่งเป็นพืช GMOs ได้

7.   ในส่วนของใบก็สามารถนำไปใช้ทำประโยชน์ได้หลายอย่าง ตั้งแต่เป็นอาหาร ยารักษาโรค เครื่องสำอาง รวมไปถึงการนำใบมาเป็นชาเพื่อสุขภาพ นำมาเป็นผงผสมกับสารอาหารอื่น ๆ เพื่อผลิตเป็นอาหารเสริม ผลิตเป็นอาหารโดยตรงอย่างเส้นพาสต้า คุกกี้ หรือขนมปัง ใช้ทำเบียร์ ไวน์ ซอสจิ้มอาหารต่าง ๆ และยังใช้ประโยชน์โดยนำมาสกัดเป็นน้ำมันหอมระเหยเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมเครื่องสำอางที่มีคุณสมบัติช่วยดูแลผิวพรรณ ทำให้ผิวชุ่มชื้น เหมาะกับผิวแพ้ง่าย ผิวบอบบาง


8.  ในประเทศญี่ปุ่นมีการปลูกต้นกัญชงเพื่อกำจัดกัมมันตภาพรังสีให้สลายตัวที่จังหวัดฟูกูชิมะ และสารกัมมันตภาพรังสีรั่วจากโรงงานไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ระเบิดจากสึนามิ ซึมลงดินจนไม่สามารถทำการเกษตรได้

9.   กัญชงจัดเป็นเส้นใยมงคลที่ชาวญี่ปุ่นนิยมนำมาตัดกิโมโน เพราะเป็นผ้าที่มีความทนทานนับร้อยปี

เอกสารอ้างอิง

ภก.สิกขวัฒน์ นักร้อง คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

1)   ย้ำ! รัฐปลูกกัญชง 3 ปีแรก ชาวบ้านยังไม่มีสิทธิ์ปลูก: http://www.dailynews.co.th/regional/545667

2)   ดีเดย์! อนุมัติ 6 จว.ปลูก 'กัญชง' ได้ 'กระท่อม-กัญชา' รอก่อน. http://www.dailynews.co.th/regional/545295

3)   หนุนปลูกกัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจ-รัฐปลูก 3 ปีแรก ชาวบ้านยังไม่มีสิทธิ์. http://www.komchadluek.net/news/crime/254083

4)   กัญชง สรรพคุณและประโยชน์ของต้นกัญชง 14 ข้อ!. https://medthai.com/กัญชง/ 


เปิดขั้นตอนขอปลูก กัญชง ให้ถูกกฎหมายหลังปลดล็อก

ภายหลังจากที่รัฐและกระทรวงสาธารณสุขได้ลงนามในกฎกระทรวงการขออนุญาตและการอนุญาตผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษประเภท เฉพาะกัญชง (Hemp) พ.ศ. 2563 และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 29 มกราคม 2564


ล่าสุดพบว่าในหลายพื้นที่หลายจังหวัดมีผู้สนใจประสงค์จะขอปลูกกัญชง โดยกระทรวงสาธารณสุขเปิดเผยว่า ในภาพรวมของทั้งประเทศ มีผู้สนใจขอทราบรายละเอียดและรับคำแนะนำทั้งหมด 705 ราย ยื่นคำขออนุญาตฯเบื้องต้น 2 ราย 

ทั้งนี้ผู้ที่ประสงค์จะปลูกกัญชง ควรศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับข้อกฎหมายและหลักเกณฑ์ต่างๆ ที่เกี่ยวกับการอนุญาต และคู่มือผู้ประกอบการในการขออนุญาต โดยจะมี10 ข้อควรรู้ในการขออนุญาตปลูกกัญชง ดังต่อไปนี้
 
1. พื้นที่ปลูกอยู่จังหวัดไหน ให้ยื่นขอที่สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดนั้น โดยสามารถยื่นขอได้ตลอดปี และขั้นตอนการอนุญาตประมาณ 120 วัน นับแต่วันที่หลักฐานครบถ้วนและยื่นชำระเงินค่าคำขออนุญาต  ดังนั้นผู้ขออนุญาตควรวางแผนการยื่นคำขออนุญาตให้สอดคล้องเช่น ยื่นคำขออนุญาตเดือนกุมภาพันธ์ เพื่อปลูกเดือนกรกฎาคม เป็นต้น

2. การขออนุญาตปลูกกัญชง เช่น เพื่อประโยชน์เชิงพาณิชย์หรืออุตสาหกรรม ไม่จำกัดพื้นที่ จะขออนุญาตพื้นที่เท่าไรก็ได้

3. เอกสารสิทธิ์ที่ดินในการขออนุญาตต้องชอบด้วยกฎหมาย ไม่บุกรุกป่า เช่น โฉนด หรือ นส. 3 ก หากผู้ขอไม่ได้เป็นเจ้าของจะต้องมีหนังสือยินยอมให้ใช้พื้นที่เพื่อผลิตยาเสพติดให้โทษตามแบบฟอร์มที่กำหนด


ทั้งนี้ แบบภ.บ.ท.5 และภ.บ.ท. 6 ไม่ถือเป็นเอกสารถือครองที่ดิน ไม่สามารถใช้ขออนุญาตได้***

4. สถานที่ปลูก ต้องมีแนวเขตพื้นที่ปลูกที่เห็นได้ชัด แยกจากการปลูกพืชชนิดอื่นเป็นสัดส่วนชัดเจน

5. มีมาตรการรักษาความปลอดภัยในบริเวณพื้นที่ปลูกพื้นที่เก็บรักษาเมล็ดพันธุ์หรือกัญชงหลังการเก็บเกี่ยวและแยกเก็บกัญชงเป็นสัดส่วนไม่ปะปนกับวัตถุอื่น

6. ถ้าพื้นที่ปลูกตั้งอยู่ในเขตชุมชน สถานที่ท่องเที่ยวและสถานศึกษาต้องมีระบบป้องกันการเข้าถึงจากบุคคลภายนอก เช่น รั้วลวดหนาม ปิดกั้นทั้ง 4 ด้านของพื้นที่ปลูก จำกัดประตูทางเข้าออกพื้นที่จำเป็น


7. กำหนดบัญชีรายชื่อบุคคลผู้มีสิทธิ์ เข้า-ออก พื้นที่ปลูกกำหนดและผู้รับผิดชอบเฉพาะเป็นผู้ควบคุมในกิจกรรมเป็นลายลักษณ์อักษร

8. ผู้ขออนุญาตหรือผู้ดำเนินการ ต้องมีหนังสือผลการตรวจสอบประวัติอาชญากรรมจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยยื่นขอที่สถานีตำรวจภูธรที่มีภูมิลำเนาอยู่

9. มีค่าใช้จ่ายคือ คำขอรับอนุญาตฯ ใบละ 500 บาท และค่าหนังสือสำคัญอนุญาต ฉบับละ 4,000 บาท
 
10. การปลูกเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์หรือผลิตภัณฑ์สุขภาพ ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรฐานการเกษตร เช่น การวิเคราะห์คุณภาพของดินและน้ำ การตรวจสารปนเปื้อนยาฆ่าแมลงโลหะหนัก และจัดให้มีระบบติดตามจากต้นทางสู่ปลายทาง และตรวจสอบย้อนกลับเพื่อควบคุมกำกับดูแลให้เป็นไปตามที่ได้รับอนุญาต

โดยผู้ที่ประสงค์จะขออนุญาตปลูกกัญชง สามารถดาวน์โหลดแบบฟอร์มคำขออนุญาตได้ที่ กองควบคุมวัตถุเสพติด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา


"กัญชง"และ"กัญชา" แตกต่างและ มีประโยชน์อย่างไร และ เปิดขั้นตอนขอปลูกให้ถูกกฎหมายหลังปลดล็อก

คลิกที่นี่ 

อ้างอิง:

https://www.springnews.co.th/society/805625?fbclid=IwAR0wqiDmSCwLQPL7C9du3pRWfnZz4BxTH5R6L8A7lsYXA0EH80m5Z_b9Oe

กัญชงและกัญชาต่างกันยังไง ?  นพ.สมยศ กิตติมั่นคง  รู้จักกับกัญชา 



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น